เชื่อหรือมั้ยว่ามนุษย์เรากําลังปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอยู่

Last updated: 29 ส.ค. 2567  |  28 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชื่อหรือมั้ยว่ามนุษย์เรากําลังปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอยู่

ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในการดำรงชีวิต

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) หมายถึง สิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติซึ่งมีประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะเป็นปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตที่มนุษย์สามารถเสาะแสวงหามาใช้ เช่น พืช สัตว์ แร่ธาตุ ป่าไม้ ถ่านหิน และน้ำมัน เป็นต้น สามารถแบ่งทรัพยากรธรรมชาติออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไม่หมดสิ้น (non-exhausting natural resource) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาก พบได้ทุกแห่งในโลก มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทรัพยากรเหล่านี้หากใช้ไม่ดี ไม่มีการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลเหล่านี้อาจเสื่อมสภาพไปจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ได้แก่ น้ำ อากาศ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์

ทรัพยากรธรรมชาติที่บำรุงรักษาให้คงสภาพอยู่ได้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่บนผิวโลกตามแหล่งต่าง ๆ ถ้ามนุษย์ใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างถูกต้องและมีการบำรุงรักษาแล้วทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้จะยังคงอยู่และใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป ได้แก่ ดิน ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า พลังงานมนุษย์

ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วสิ้นเปลือง เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็กินเวลานานนับพันนับหมื่นปีทรัพยากรเหล่านี้ ได้แก่ แร่ธาตุ (รวมทั้งน้ำมันถ่านหิน) และทิวทัศน์ที่สวยงาม

สำหรับทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ น้ำ ดิน อากาศ ป่าไม้และสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ดังนั้น เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและยาวนานที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีวิธีใช้วิธีอนุรักษ์บูรณะฟื้นฟูดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ยาวนานที่สุด

ทรัพยากรน้ำ


น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อชีวิตคน พืช และสัตว์มากที่สุดแต่ก็มีค่าน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

๑. เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และผลิตผล
๒. เป็นที่รองรับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และช่วยเกื้อกูลให้ชีวิตดำรงอยู่ได้
๓. เป็นแหล่งรองรับของเสีย และของ เหลือเศษจากขบวนการผลิตและการบริโภค
๔. ให้ความรื่นรมย์แก่จิตใจของมนุษย์ เช่น ทิวทัศน์ ภูมิประเทศ ความงามของธรรมชาติ

ดังนั้น บริการต่างๆ ที่มนุษย์เราได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงช่วยให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด (Wise Use) และมีการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบ อย่างเหมาะสม โดยจะต้องคำนึงถึงขีดความ สามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน (Sustain- able Utilization) เพราะหากมีการตักตวงใช้ ประโยชน์ที่มากเกินขนาด และขาดความ ระมัดระวังในการใช้ ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของมนุษย์ ในที่สุด

1. การดำรงชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นกำเนิดของปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์พบว่า มนุษย์จะต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการทางด้านปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

อาหารที่มนุษย์บริโภคแรกเริ่มส่วนหนึ่งได้จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เผือก มัน ปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม เป็นต้น
เครื่องนุ่งห่ม แรกเริ่มมนุษย์ประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่มจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น จากฝ้าย ป่าน ลินิน ขนสัตว์ ฯลฯ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการเครื่องนุ่งห่มก็เพิ่มขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อการทำเครื่องนุ่งห่มเอง และในที่สุดก็ทำเป็นอุตสาหกรรม
ที่อยู่อาศัย การสร้างที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่าง ๆ จะพยายามหาทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบหลักในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ในเขตทะเลทรายที่แห้งแล้ง บ้านที่สร้างขึ้นในเขตภูเขาจะทำด้วยดินเหนียว แต่ถ้าเป็นบริเวณที่แห้งแล้ง และไร้พืชพรรณธรรมชาติ บ้านที่สร้างขึ้นอาจจะเจาะเป็นอุโมงค์เข้าไปตามหน้าผา บ้านคนไทยในชนบทสร้างด้วยไม้ ไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยจากหรือหญ้า เป็นต้น
ยารักษาโรค ตั้งแต่สมัยโบราณมนุษย์รู้จักนำพืชสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค เช่น คนไทยใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคหวัด หอบ หืด หัวไพล ขมิ้น น้ำผึ้งใช้บำรุงผิว

2. การตั้งถิ่นฐานและการประกอบอาชีพ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานในการตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพของมนุษย์ เช่น แถบลุ่มแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชและสัตว์ จะมีประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมประมง เป็นต้น
3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
4. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร เครื่องผ่อนแรง ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ
5. การรักษาสมดุลธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยในการรักษาสมดุลธรรมชาติ

ความสำคัญของน้ำ

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนเรา เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร การคมนาคมขนส่ง การประมง และอื่น ๆ น้ำยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำหนักตัว น้ำบนผิวโลกมีอยู่ประมาณ 3 ใน 4 ส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มในทะเลและมหาสมุทรถึง 97.41% ส่วนน้ำจืดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและมีค่ามากที่สุดของสิ่งมีชีวิตมีอยู่เพียง 2.59% น้ำจืดนี้พบอยู่ในรูปของภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกและธารน้ำแข็ง น้ำใต้ดิน และเป็นน้ำจืดที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงเพียง 0.014% เท่านั้น

ประโยชน์ของน้ำ


น้ำเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของสัตว์และพืชคนเรามีชีวิตอยู่โดยขาดน้ำได้ไม่เกิน 3 วัน และน้ำยังมีความจำเป็นทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ประโยชน์ของน้ำ ได้แก่
- น้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่เราใช้สำหรับการดื่มกิน การประกอบอาหาร ชำระร่างกาย ฯลฯ
- น้ำมีความจำเป็นสำหรับการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งคนเราใช้เป็นอาหาร
- ในการอุตสาหกรรม ต้องใช้น้ำในขบวนการผลิตใช้ล้างของเสียใช้หล่อเครื่องจักรและระบายความร้อน ฯลฯ
- การทำนาเกลือโดยการระเหยน้ำเค็มจากทะเล
- น้ำเป็นแหล่งพลังงาน พลังงานจากน้ำใช้ทำระหัด ทำเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้
- แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล มหาสมุทร เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญ
- ทัศนียภาพของริมฝั่งทะเลและน้ำที่ใสสะอาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของมนุษย์

ส่วนประกอบของน้ำ

น้ำประกอบด้วยออกซิเจน 1 อะตอมและไฮโดรเจน 2 อะตอมเชื่อมติดกันด้วยพันธะโควาเลนต์

คุณสมบัติของน้ำ

น้ำมีความโปร่งใส ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น และไม่มีสี เป็นสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบหลักของลำธาร, แม่น้ำ, และมหาสมุทรในโลก หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ

น้ำที่มนุษย์นำไปใช้ประโยชน์มาจาก 3 แหล่งใหญ่ คือ

หยาดน้ำฟ้า (precipitation) หมายถึง น้ำที่ได้จากบรรยากาศที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้ แหล่งน้ำในบรรยากาศจะอยู่ในรูปของไอน้ำในอากาศ เมฆ น้ำ ฝน ลูกเห็บ หิมะ น้ำค้าง

น้ำผิวดิน (surface water) ได้แก่ น้ำในแม่น้ำลำคลอง บึง บ่อ ทะเลสาบ ซึ่งได้จากน้ำฝนที่ตกลงมาและที่ไหลซึมออกจากใต้ดินรวมถึงน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะอีกด้วย

น้ำใต้ดิน (ground water) หมายถึง น้ำที่อยู่ใต้ผิวดิน ซึ่งเกิดจากการซึมผ่านของน้ำผิวดิน น้ำฝน และหิมะลงสู่ชั้นใต้ดินจนกลายเป็นน้ำในดินและน้ำบาดาลที่เราสามารถขุดและสูบขึ้นมาใช้ได้

ส่วนแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ่อน้ำ บึง คลอง เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ และฝายเพื่อเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นถ้ามีขนาดใหญ่อาจนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ทำการประมงการเกษตรได้ด้วย

น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เมื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภครวมทั้งใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว ย่อมเกิดการปนเปื้อนด้วยสิ่งโสโครกและสารมลพิษต่าง ๆ กลายเป็นน้ำเสียและปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสียจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้

การจัดการทรัพยากรน้ำ

การจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ หมายถึง การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับน้ำและการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีพของมนุษย์ จึงต้องมีกระบวนการจัดการกับทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมและถูกต้อง ดังนี้

ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า

มีการวางแผนการใช้น้ำที่คุ้มค่าที่จะกักเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี

การใช้น้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งแล้วไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้

การพัฒนาแหล่งน้ำเดิมด้วยการขุดลอกคูคลอง หนอง บึง ไม่ให้ตื้นเขิน

การปลูกป่าโดยเฉพาะในเขตภูเขาสูงที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร

การแก้ไขปัญหามลพิษของน้ำ

มลพิษทางน้ำและการจัดการ

มลพิษ (pollution) หมายถึง ภาวะที่มีของเสียหรือวัตถุอันตรายและกากตะกอนรวมทั้งสิ่งตกค้างจากสารเหล่านั้นที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

น้ำเสีย (waste water) หมายถึง น้ำที่มีของเสียปะปนอยู่รวมทั้งมีมลสารชนิดต่าง ๆ อยู่ด้วย ได้แก่ น้ำใช้แล้วจากบ้านเรือน จากการซักล้างน้ำชะล้างสิ่งสกปรกของเครื่องจักรและโรงงานน้ำเสียที่มีสารเคมีและโลหะต่าง ๆ เป็นต้น

แหล่งที่มาของน้ำเสียน้ำเสีย เกิดมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากธรรมชาติ น้ำเสียจากบ้านเรือน จากการเกษตรโรงงานอุตสาหกรรม และการทำเหมืองแร่

การตรวจสอบมลพิษทางน้ำ เพื่อเป็นดัชนีบ่งชี้มลพิษทางน้ำหรือเรียกว่า การวิเคราะห์คุณภาพน้ำมีหลายประการ ได้แก่

ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำหรือดีโอ (Dissolved Oxygen: DO) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งได้จากออกซิเจนจากอากาศและออกซิเจนที่เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชน้ำและแพลงก์ตอนพืช ถ้าอุณหภูมิและปริมาณแร่ธาตุในน้ำมีค่ามากออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะมีค่าต่ำลงเพราะออกซิเจนละลายน้ำได้น้อยลง แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีคุณภาพดีมากตามปกติจะมีออกซิเจนละลายอยู่ประมาณ 8 mg/L หรือ 8 ส่วนในล้านส่วน (part per million, ppm) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีทั่วไป มีค่าดีโอประมาณ 5-7 mg/L แต่ในน้ำเน่าเสียค่าดีโอต่ำกว่า 3 mg/L ถ้ามีค่าดีโอสูงจะแสดงว่าแหล่งน้ำมีคุณภาพดีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการอุปโภคบริโภคได้

บีโอดี (Biochemical oxygen demand: BOD) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ในน้ำใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ การวัดตามมาตรฐานสากลใช้วัดค่าบีโอดีภายในเวลา 5 วันที่ 20 องศาเซลเซียสหรือเรียกว่า BOD5 แหล่งน้ำที่มีค่าบีโอดีสูง แสดงว่าน้ำนั้นเน่าเสียและสกปรกมาก เนื่องจากแหล่งน้ำนั้นมีสารอินทรีย์มากจุลินทรีย์ในน้ำ จึงทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้มาก โดยใช้ออกซิเจนในน้ำไปมากด้วย ทำให้ค่าบีโอดีของแหล่งน้ำสูง แต่ถ้าแหล่งน้ำมีค่าบีโอดีต่ำแสดงว่าแหล่งน้ำนั้นมีสารอินทรีย์อยู่น้อยจุลินทรีย์ทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้น้อยจึงใช้ออกซิเจนในน้ำไปน้อย

ซีโอดี (Chemical oxygen demand: COD) หมายถึง ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำเสียทั้งที่จุลินทรีย์ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ วิธีนี้ใช้สารเคมีที่เป็นตัวออกซิไดซ์ ค่าซีโอดีสูงกว่าค่าบีโอดีเสมอ (COD > BOD)

ปริมาณของแข็งทั้งหมด (total solid) หมายถึง ปริมาณของแข็งในน้ำรวมทั้งที่ละลายน้ำได้ (dissolved solid) และของแข็งที่แขวนลอย (suspended solid) แหล่งน้ำธรรมชาติมีค่าของแข็งในน้ำระหว่าง 100-500 mg/L ส่วนน้ำในแม่น้ำขนาดใหญ่มีค่าของแข็งมากกว่าคือ อยู่ระหว่าง 3,000-30,000 mg/L ลิตร ปริมาณของแข็งที่มีมากเกินไปทำให้แหล่งน้ำขุ่น

ปริมาณโลหะหนักและสารฆ่าแมลง โลหะหนักเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต กำจัดได้ยาก ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการในอุตสาหกรรมที่สำคัญมากที่สุด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซึ่งจะถ่ายทอดจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นโดยการกินกันเป็นลำดับห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดการสะสมพิษของโลหะหนักในผู้บริโภคอันดับสุดยอด (top consumer) เช่น การสะสมพิษปรอท ทำให้เกิดโรคมินามาตะ ทำอันตรายระบบประสาทระบบกล้ามเนื้อจนอาจตายได้พิษของตะกั่วที่สะสมในร่างกายมาก ๆ ทำให้เป็นอัมพาตหมดแรงจนทำให้ตายได้ พิษของแคดเมียมทำให้เกิดอิไตอิไต ทำให้กระดูกผุกร่อนและหักง่ายและไปสะสมที่ไตจนอาจตายได้ สารฆ่าแมลงเป็นวัตถุมีพิษ เช่น DDT สลายตัวยากและตกค้างอยู่บนพืชผักเมื่อฝนตกจะชะล้างลงสู่แม่น้ำดีดีทีละลายน้ำได้น้อย แต่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ได้ดี เช่น ไขมัน ดีดีที จึงสะสมในไขมันสิ่งมีชีวิต เช่น แพลงก์ตอนจุลินทรีย์และถูกกินกันตามลำดับห่วงโซ่อาหาร

แบคทีเรียโคลิฟอร์ม (coliform) หรือฟิคอลโคลิฟอร์ม (fecal coliform) แบคทีเรียโคลิฟอร์ม หมายถึง แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ และโคลิฟอร์มจะออกจากร่างกายทางอุจจาระ จึงเรียกว่า พวกฟิคอลโคลิฟอร์ม ตัวแทนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มคือ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้นานกว่าเชื้อก่อโรค และถ้าตรวจพบ E. coli ก็แสดงว่า แหล่งน้ำมีการปนเปื้อนด้วยอุจจาระ น้ำนั้นไม่เหมาะในการนำมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภค

pH ของแหล่งน้ำ แหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติมีความเป็นกรด-เบสหรือ pH ระหว่าง 6.5-7.5 ถ้าค่า pH ของแหล่งน้ำสูงหรือต่ำกว่านี้มากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

การบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ

กระบวนการทางกายภาพ (physical process) เป็นการกำจัดของแข็งที่ไม่ละลายน้ำออกไปโดยใช้ตะแกรงร่อน (Screening)

กระบวนการทางเคมี (chemical process) ได้แก่ การทำให้น้ำเสียเป็นกลาง โดยเดิมกรดหรือเบส

กระบวนการทางชีวภาพ (biological process) เป็นการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ทั้งแบบใช้ออกซิเจน (aerobic process) และแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic process)

กระบวนการฟิสิกส์และเคมี (physical-chemical process) ใช้ในการบำบัดสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสีย ได้แก่ การใช้ผงถ่านดูดซับ (carbon adsorption)

ส่วนในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจใช้พืชน้ำช่วยบำบัดน้ำเสียได้ เช่น ผักตบชวา ผักกระเฉด ธูปฤาษี หญ้าแฝก กกสามเหลี่ยม และบัว เป็นต้น โดยพืชน้ำดูดสารอินทรีย์ในน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโตและยังช่วยกรองหรือกักเก็บกากตะกอนไว้ที่ก้นแหล่งน้ำ

ผลกระทบของน้ำเสียต่อสิ่งแวดล้อม
- เป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรค เช่น อหิวาตกโรค บิด ท้องเสีย
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงนำโรคต่าง ๆ
- ทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ
- ทำให้เกิดเหตุรำคาญ เช่น กลิ่นเหม็นของน้ำโสโครก
- ทำให้เกิดการสูญเสียทัศนียภาพ เกิดสภาพที่ไม่น่าดู เช่น สภาพน้ำที่มีสีดำคล้ำไปด้วยขยะ และสิ่งปฎิกูล
- ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น การสูญเสียพันธุ์ปลาบางชนิดจำนวนสัตว์น้ำลดลง
- ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในระยะยาว


ปัญหาทรัพยากรน้ำ ที่สำคัญมีดังนี้
1. เพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำ ในปัจจุบันนอกจากการใช้น้ำเพื่อการบริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 30% ถึง 40% ในการผลิตอาหารของโลกจำเป็นต้องใช้น้ำจากการชลประทานภายในระยะเวลาประมาณ 15-20 ปีข้างหน้านี้ บริเวณพื้นที่ชลประทานจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ของปริมาณ พื้นที่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะผลิตอาหารให้ได้เพียงพอแก่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
2. การกระจานน้ำไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน ในบางพื้นที่ของโลกเกิดฝน ตกหนักบ้านเรือนไร่นาเสียหาย แต่ในบางพื้นที่ก็แห้งแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค และเพื่อการเพาะปลูก
3. การเพิ่มมลพิษในน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ เมื่อจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้น มนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่เพิ่มมลพิษให้กับแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยการปล่อยน้ำเสีย คราบน้ำมัน จากบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม การทิ้งขยะมูลฝอยลงไปในแหล่ง เป็นต้น

ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสิ่งมีชีวิต
ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในรูปแบบไหน ก็ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์และโทษต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกได้ทั้งสิ้น มาดูกันว่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อสิ่งมีชีวิตนั้นมีอะไรบ้าง



1. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เช่น น้ำใช้เพื่อการบริโภค และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ อากาศใช้เพื่อการหายใจของมนุษย์และสัตว์ ดินเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนบก แสงแดดให้ความร้อนและช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืช



2. สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ จะช่วยปรับให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมันได้ เช่นช่วยให้ปลาอาศัยอยู่ในน้ำที่ลึกมากๆ ได้ ช่วยให้ต้นกระบองเพชรดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทรายได้ เป็นต้น



3. สิ่งมีชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม เช่น มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่



4. สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เช่น เมื่อสัตว์กินพืชมีจำนวนมากเกินไป พืชจะลดจำนวนลง อาหารและที่อยู่อาศัยจะขาดแคลน เกิดการแก่งแย่งสูงขึ้น ทำให้สัตว์บางส่วนตายหรือลดจำนวนลง บางครั้งอาจเป็นผลเสีย แต่ในบางครั้งก็ช่วยให้ระบบนิเวศกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้อีกครั้ง



5. สิ่งแวดล้อมจะกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในแง่ของการถ่ายทอดพลังงานระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย / ในแง่ของการอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลกัน หรือเบียดเบียนกัน มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้มากมาย ในลักษณะที่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ใช้ประโยชน์จากดินเพื่อการเพาะปลูก ใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้าเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ใช้ประโยชน์จากเหมืองแร่เพื่อการอุตสาหกรรม ฯลฯ



เห็นไหมครับว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ อีกทั้งยังส่งผลกับสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุยษ์อย่างพวกเรา ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันดูรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ให้ดีที่สุด ให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อรักษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเรานะครับ

กิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่
1. กิจกรรมทางด้านอุตสหกรรม โดยไม่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการนำใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีการเปิดหน้าดิน ก่อให้เกิดปัญหาการชะล้าง พังทลายของดิน และปัญหาน้ำทิ้ง จากเหมืองลงสู่แหล่งน้ำ ก่อให้เกิดพลพิษทางน้ำ
2. กิจกรรมทางการเกษตร เช่น มีการใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดอันตราย ต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เนื่องจากมีการสะสมสารพิษ ไว้ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดอันตราย ในระยะยาวและเกิดความสูญ ทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการเจ็บป่วย ของประชาชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง
3. กิจกรรมการบริโภคของมนุษย์ ส่งผลให้ มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ขาดการคำนึงถือสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหา สิ่งแวดล้อมตามมา เช่น ปริมาณขยะที่มากขึ้น จากการบริโภคของเรานี้ ที่มากขึ้นซึ่งยากต่อการกำจัด โดยเกิดจาการใช้ทรัพยากร อย่างไม่คุ้มค่า ทำให้ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติ ลดน้อยลง เป็นต้น

สาเหตุที่มนุษย์ลำบายสิ่งแวดล้อมมีหลายสาเหตุดังนี้
1. การเพิ่มของประชากร การเพิ่มของประชากรโลก เป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเจริญ ทางด้านการแพทย์ ช่วยลดอัตราการตาย โดยการเพิ่มประชากรนี้ ก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรมากขึ้น มีของเสียมากขึ้น
2. พฤติกรรมการบริโภค อันเนื่องมาจาก ต้องการให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขสบาย มากขึ้น มีการนำใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างสิ้นเปลือง มีขยะและของเสียมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและตัวมนุษย์เอง
3. ความโลภของมนุษย์ โดยนำทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาใช้ เพื่อให้ตนเองมีความร่ำรวย มีความสะดวกสบาย มีความเห็นแก่ตัว ขาดสติยั้งคิด ถึงสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นผลส่งให้เกิดปัญหา สิ่งแวดล้อม ที่มากระทบต่อมนุษย์เองในที่สุด
4. ความไม่รู้ สิ่งที่ทำให้มนุษย์ ขาดการรู้เท่าทัน บนรากฐานแห่งความจริง อย่างลึกซึ้งใน สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ส่งผลให้มนุษย์ขาดสต ิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีพฤติกรรมการบริโภค อันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม

แหล่งอ้างอิง:https://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=21&chap=8&page=t21-8-infodetail02.html

https://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environment%20gr.3/page3_tem.htm

https://www.scimath.org/lesson-biology/item/11674-2020-06-30-07-32-32

https://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environment%20gr.3/page5_tem.htm

https://www.bangkoklife.com/blahappylifegogreen/knowledge_detail.aspx?id=4

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้